เจาะลึกเกี่ยวกับ Flexible duct ชิ้นส่วนสำคัญของระบบท่อลมต่างๆ ที่ควรต้องรู้จักไว้

Flexible duct

การหายใจเป็นสิ่งที่ร่างกายของมนุษย์เราทุกคนนั้น ทำอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าอากาศที่เราหายใจนั้นไม่อาจมองเห็นได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากอากาศนั้นปนเปื้อนเชื้อไวรัส หรือฝุ่นผงต่างๆ เราก็ไม่มีทางรู้ได้เลย ด้วยเหตุนี้ก่อนที่ร่างกายของเราจะเกิดความผิดปกติ ในวันนี้เราก็จะพาทุกคนมาเรียนรู้เกี่ยวกับ Flexible duct

ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญ ของการเดินระบบท่อลมภายในโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารบ้านเรือนไปพร้อมๆ กัน บอกเลยว่าเจ้าระบบท่อลม และ Flexible duct นี้มีความสำคัญไม่แพ้ระบบไฟฟ้า หรือระบบน้ำภายในบ้านเรือนของเราเลยทีเดียว ว่าแล้วก็มาดูกันว่าสำคัญขนาดไหน ทำไมถึงต้องเรียนรู้

Flexible duct คืออะไร

หลายๆ คนอาจคุ้นเคยกันในชื่อภาษาไทยที่เรียกกันว่า ท่อเฟล็กซ์ มีทั้งแบบแข็งและแบบอ่อน โดย Flexible duct คือท่อลมแบบอ่อนระบายอากาศท่อเฟล็กซ์เหล่านี้ มีความยืดหยุ่นที่สูงเป็นอย่างมาก จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ใครหลายคนเลือกท่อชนิดนี้ มาใช้ในงานระบบท่อลมของอาคาร หรือโรงงานอุตสาหกรรม โครงสร้างของ Flexible duct มักจะประกอบด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ และโพลิเอสเตอร์ รวมถึงตัวช่วยในการขึ้นโครงอย่างลวดสปริงเคลือบทองแดงกันสนิม และยึดทั้งหมดนี้ ด้วยกาวชั้นดีชนิดพิเศษ ทำให้ทนต่ออุณหภูมิที่สูง

รวมถึงการผุกร่อนจากความชื้น และสารต่างๆ ที่อาจระเหยขึ้นมาโดน นอกจากวัสดุที่ยกตัวอย่างมานั้น Flexible duct ยังสามารถผลิตมาจากวัสดุอย่าง PA หรือท่อผ้าใบสีฟ้าได้เช่นกัน โดยการเลือกว่าจะใช้ Flexible duct ที่ผลิตจากวัสดุใดนั้นก็จะดูจากการใช้งานเป็นหลัก ว่านำไปใช้งานในแง่ใด แต่ส่วนใหญ่ทุกๆ ประเภทมักจะนำมาใช้งานกับงานระบบท่อลม ซึ่งเป็นระบบที่สำคัญในการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนอากาศ จากภายในไปสู่ภายนอก ทำให้อากาศถ่ายเท และผู้คนสามารถอาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ ได้อย่างปลอดภัย

ชนิดของ Flexible duct

Flexible duct นั้นโดยปกติแล้วเราสามารถแบ่งได้จากวัสดุที่นำมาใช้ผลิต โดยแต่ละชนิดก็จะมีความเหมาะสมในการใช้งาน รวมถึงจุดเด่นที่แตกต่างกันไป การเลือกใช้จึงต้องอ่านรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน โดยสามารถแบ่งได้ทั้งหมดตามนี้

1. Flexible duct : ท่อเฟล็กซ์กระดูกงู

ท่อเฟล็กซ์กระดูกงู เป็น Flexible duct ที่ผลิตมาจากโพลีโพรพิลีน (PP) มีความยืดหยุ่น ดัดโค้งแล้วอยู่ตัว ไม่คืนรูป เหมาะกับการใช้รับลมเย็นตามจุดต่างๆ ติดตั้งภายในอาคาร เพื่อทำการหมุนเวียนอากาศภายใน ควรติดตั้งในอาคารที่มีประตู หรือหน้าต่างปิดมิดชิด หรือพื้นที่อับอย่างบริเวณลานใต้ดิน ทนอุณหภูมิได้มากสุดที่ 80 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังเหมาะกับงานประเภทการดูดควัน ดูดฝุ่น และงานร้อยสายไฟ ก็สามารถใช้งานได้อีกด้วย วัสดุนี้จะไม่ติดไฟ ควรผ่านมาตรฐาน UV94V-0 อัตราความยืดหยุ่นอยู่ที่ 30 – 50% ขยาย หรือลดขนาดของท่อเฟล็กซ์กระดูกงูได้ประมาณ 15%

2. Flexible duct : ท่อเฟล็กซ์แบบ P-Type

ท่อเฟล็กซ์แบบ P-Type เป็น Flexible duct ที่เหมาะกับงานระบายอากาศเช่นกัน แต่ก็ยังเป็นที่นิยมในการใช้กับงานท่อระบายน้ำอีกด้วย เนื่องจากวัสดุที่ใช้ผลิตนั้นเป็น olefin resin บวกกับโครงเหล็กเคลือบด้วยโพลีโพรพิลีน (PP) น้ำหนักที่เบากว่าท่อพลาสติกทั่วไปทำให้เคลื่อนย้ายได้ง่าย ปรับดัดได้แต่ไม่มากนัก ทนอุณหภูมิตั้งแต่ -20 องศาเซลเซียสจนถึง 80 องศาเซลเซียสด้วยกัน เป็นอีกตั้งเลือกหนึ่งที่ถูกหยิบขึ้นมา เนื่องจากมีหลากหลายสีให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นสีขาว สีดำหรือสีน้ำตาลท่อเฟล็กซ์ชนิดนี้ ก็มีให้เลือกใช้ ทำให้เข้ากับการออกแบบดีไซน์ในยุคปัจจุบัน มากกว่าท่อชนิดอื่นๆ

3. Flexible duct : ท่อเฟล็กซ์ผ้าใบ

ท่อเฟล็กซ์ผ้าใบ เป็น Flexible duct ที่ใครหลายคนอาจจะคุ้นเคยกันในชื่อท่อส่งลมผ้าใบเคลือบ PVC มีสองสีด้วยกันคือสีฟ้า และสีดำ ทนอุณหภูมิได้สูงถึง 100 องศาเซลเซียสด้วยกัน เรียกว่าสูงกว่าสองชนิดแรก ตัวท่อประกอบด้วยขดลวดเส้นใบไฟเบอร์กลาส ทนทาน ยืดหยุ่นสูง ต้านลมได้ดี เหมาะสำหรับงานดูดระบายอากาศออก ไม่ว่าจะเป็นระบบลมร้อน หรือระบบลมเย็นก็สามารถใช้งานท่อชนิดนี้ได้

รวมถึงยังสามารถดูดควัน ฝุ่นผง ได้ดีอีกด้วย ความพิเศษอยู่ตรงที่สามารถยืดตัวได้ 10 เท่าจากปกติ นอกจากนี้ยังมีท่อเฟล็กซ์ผ้าใบชนิดพิเศษที่เคลือบ PVC ชนิดไม่ลามไฟอีกด้วย โดยการเคลือบพิเศษแบบนี้ ทำให้สามารถทนความร้อนเพิ่มขึ้นไปถึง 180 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว สังเกตง่ายๆ ได้จากสีของท่อ ท่อพิเศษชนิดนี้จะมีสีดำเท่านั้น

4. Flexible duct : ท่อเฟล็กซ์อะลูมิเนียม

ท่อเฟล็กซ์อะลูมิเนียม เป็น Flexible duct ยอดนิยม ผู้คนมักเลือกท่อชนิดนี้มาใช้ในงานระบบท่อลมต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นท่ออเนกประสงค์ก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามท่อเฟล็กซ์อะลูมิเนียมนี้ สามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ ได้อีก 3 ประเภทด้วยกันดังนี้

  • ท่อเฟล็กซ์อะลูมิเนียมเคลือบพีวีซี : การเคลือบ PVC ช่วยทำให้ท่อชนิดนี้สามารถป้องกันความชื้นได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังกันน้ำ ภายนอกมักถูกห่อด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์อีกชั้นหนึ่ง เพื่อความแข็งแรง มักจะใช้ท่อเฟล็กซ์อะลูมิเนียมเคลือบพีวีซี ในงานระบบอากาศภายในรถยนต์ เพราะทนทานหากเจอแก๊ส หรือสะเก็ดไฟ ที่เกิดจากการเสียดสี สามารถทนอุณหภูมิได้สูงสุดที่ 150 องศาเซลเซียส น้ำหนักเบา แม้ว่าจะมีโครงลวดอยู่ภายใน
  • ท่อเฟล็กซ์อะลูมิเนียม : ถือว่าเป็นท่อเฟล็กซ์พื้นฐาน ที่หลายคนหยิบจับมาใช้งานมากที่สุด ราคาไม่แพง จับต้องได้ คุณสมบัติโดดเด่นในทุกด้าน ยืนหยุ่นได้ดี ทนอุณหภูมิได้สูงถึง 250 องศาเซลเซียส มักจะนำไปใช้ในงานระบบท่อลมระบายอากาศความร้อนในอาคารต่างๆ โดยเฉพาะในเครือโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีอากาศภายในอาคารสูงกว่าตึกปกติ นอกจากนี้ยังรับแรงดันระดับต่ำ และระดับสูง ได้อย่างดี ด้วยความยืดหยุ่นที่มี และน้ำหนักที่เบา จับแล้วเหมือนลูกฟูด ต่อตะเข็บก็เหมือนกับเกลียวของฟันเฟือง ทำให้หยิบจับดัดติดตั้งง่าย สามารถดัดแปลงไปใช้ได้กับหลายระบบของการก่อสร้าง บางครั้งสามารถพบท่อเฟล็กซ์อะลูมิเนียมแบบพิเศษนั่นก็คือ มีการหุ้มใบแก้วอีกชั้น เพื่อความคงทนที่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
  • ท่อลมอ่อน หรือ ท่อลมยืดหยุ่น : เป็นท่ออะลูมิเนียมฟอยล์ที่มีความยืดหยุ่นสูงที่สุด มีส่วนผสมของโพลิเอสเตอร์ (PE) มักจะถูกยึดด้วยกาวชนิดพิเศษ ไม่ลามไฟ ทำให้ทนอุณหภูมิได้สูงถึง 250 องศาเซลเซียสเช่นกัน เหมาะกับระบบท่อลมปรับอากาศที่สุด เนื่องจากมีความทนทานสูง ปรับดัดได้ตามที่ต้องการ โครงสร้างภายในมีลวดสปริงเป็นส่วนประกอบ ทำให้ใช้งานได้นาน อย่างไรก็ตามท่อลมอ่อนนั้น ไม่เหมาะกับงานระบบที่ต้องเจอแก๊ส หรือสารเคมีที่ระเหยเป็นจำนวนมาก

5. Flexible duct : ท่อเฟล็กซ์ซิลิโคลนเคลือบไฟเบอร์กลาส

ท่อเฟล็กซ์ซิลิโคลนเคลือบไฟเบอร์กลาส เป็น Flexible duct ที่เหมาะกับงานระบบลมร้อน งานที่ต้องพบเจอกับสารเคมีที่ระเหย ติดตั้งไว้ภายในโรงงานอุตสาหกรรม หรือห้องที่มีเครื่องจักรทำงานตลอดเวลา ทำหน้าที่ดูดกลิ่น ดูดควันได้ดี สามารถทนอุณหภูมิได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส ภายนอกเป็นท่อที่มีสีแดงเด่นเป็นเอกลักษณ์

6. Flexible duct : ท่อเฟล็กซ์ยาง PVC

ท่อเฟล็กซ์ยาง PVC เป็น Flexible duct ที่ดูธรรมดาที่สุดในบรรดาท่อทั้งหมด รับอุณหภูมิสูงสุดได้เพียง 80 องศาเซลเซียสเท่านั้น เหมาะสำหรับงานดูดอากาศ ควันและน้ำได้สบายๆ ลักษณะเป็นสีใสโครงสร้างเสริมลวด PVC เพิ่มความแข็งแรง โดดเด่นในเรื่องของการทดแรงกด แรงดึงและการกัดกร่อนของสารเคมี แต่ถ้าหากเจอท่อเฟล็กซ์ยาง PVC สีเทาหรือสีดำแล้วละก็ จะถือว่าเป็นท่อเฟล็กซ์ยาง PVC GLS ซึ่งเหมาะกับงานท่อน้ำทิ้งเสียส่วนใหญ่

7. Flexible duct : ท่อเฟล็กซ์สเตนเลส

ท่อเฟล็กซ์สเตนเลส เป็น Flexible duct ที่มีความคงทนต่อความร้อนได้สูงสุดถึง 450 องศาเซลเซียสด้วยกัน อีกทั้งยังมีความแข็งแรงมากที่สุด จุดเด่นอยู่ที่ท่อชนิดนี้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี นอกจากจะเหมาะกับงานระบบท่อลมระบายอากาศแล้ว ยังนิยมใช้ในงานท่อรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นท่อไอเสีย หรือท่อดูดฝุ่นก็มักใช้เป็นท่อชนิดนี้

สรุปแล้ว Flexible duct มีประโยชน์ตรงไหนบ้าง

  • การใช้ Flexible duct ในงานท่อลมระบายอากาศ ถือว่าเป็นการเลือกใช้วัสดุได้อย่างถูกจุดประสงค์ แน่นอนว่าเมื่อเลือกใช้งานท่อเหล่านี้กับงานระบบดังกล่าวแล้ว ผู้ใช้งานจะได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นแล้วโรงงาน ตึกอาคาร หรือบ้านเรือน ที่มีการวางระบบท่อลมอย่างดี ก็หมดกังวลเรื่องการถ่ายเทอากาศภายในตัวอาคารได้เป็นปลิดทิ้ง เพราะระบบและท่อที่ได้คุณภาพ จะช่วยทำให้คุณได้หายใจเอาอากาศที่ดี เข้าไปในร่างกายทุกวัน
  • เนื่องจาก Flexible duct มีความยืดหยุ่นสูง จึงเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นชั้นใต้ดิน การขุดเจาะท่อ อุโมงค์ Flexible duct ก็สามารถเข้าไปช่วยในเรื่องของการถ่ายเทหมุนเวียนอากาศ เข้าไปได้ง่ายยิ่งขึ้น คนงานภายในบริเวณนั้นๆ สามารถทำงานได้คล่องยิ่งขึ้น
  • นอกจากนี้การติดตั้งระบบท่อลมโดยใช้ Flexible duct นั้นยังช่วยในเรื่องของการถ่ายโอนความร้อนที่เกิดขึ้น ภายในตัวอาคารออกไปได้อีกด้วย โดยความร้อนที่สามารถเกิดขึ้นในอาคารได้นั้น มักมาในรูปแบบการทำงานของเครื่องจักรที่ใช้งานหนักเป็นเวลานาน ความถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็สามารถแพร่ไอความร้อนออกมาได้เช่นกัน
กลับสู่สารบัญ

เลือกซื้อ Flexible duct อย่างไรให้เซียนเหมือนเรียนมา

Flexible duct หลักๆ แล้วจะเริ่มดูจากเส้นผ่าศูนย์กลางของ Flexible duct ที่เราต้องการเสียก่อนว่ามีขนาดเท่าไหร่ ปกติแล้วในแบบจะมีการกำหนดไว้อยู่แล้วว่า ควรใช้ขนาดไหน โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของ Flexible duct นั้นมีตั้งแต่ขนาด 4 นิ้วจนถึงขนาด 24 นิ้วเลยทีเดียว ซึ่งก็จะมีความยาวกำหนดเอาไว้ให้เลือกตั้งแต่ 2 เมตร จนถึง 10 เมตรเลยทีเดียว

ซึ่งตามร้านค้าออนไลน์ โรงงานผู้ผลิต หรือร้านค้าวัสดุก่อสร้างนั้น จะแบ่งขายแยกตามประเภทของวัสดุที่นำมาใช้ผลิตอีกที โดยราคาของแต่ละวัสดุก็จะแตกต่างออกไปตามสเปคของ Flexible duct ที่เราต้องการ ตัวอย่าง Flexible duct อะลูมิเนียมฟอยล์ 2 หน้าห่อใยแก้วเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 10 เมตรราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 900 บาทและสำหรับเส้นผ่าศูนย์กลาง 24 นิ้วก็จะมีราคาอยู่ที่ 5,800 บาท เป็นต้น

Flexible duct กับระบบท่อลมสำคัญมั้ยกับการก่อสร้าง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าระบบท่อลม และ Flexible duct ซึ่งเป็นชิ้นส่วนในการประกอบจนเกิดเป็นระบบดังกล่าวนั้น มีความสำคัญมากในการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เนื่องจากแนวทางการก่อสร้างในยุคสมัยนี้ มีความแตกต่างจากสมัยก่อนเป็นอย่างมาก ในอดีตการก่อนสร้างสิ่งต่างๆ มักจะมีการเปิดช่องทาง รวมถึงการออกแบบให้มีการระบายอากาศเอาไว้เป็นจำนวนมาก เพราะสมัยก่อนนั้นยังไม่ได้มีการใช้เครื่องปรับอากาศกันอย่างแพร่หลาย เหมือนในปัจจุบันนี้ แน่นอนว่าช่องเปิดที่เยอะ จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการถ่ายเทอากาศ

หากแต่การก่อสร้างในปัจจุบัน ที่ทุกที่ล้วนมีเครื่องปรับอากาศเป็นส่วนประกอบ หากไม่สนใจการวางระบบท่อลม และการติดตั้ง Flexible duct ก็อาจะทำให้ภายในอาคาร หรือห้องนั้นๆ เกิดภาวะอากาศเป็นพิษ รวมถึงมีความชื้นสะสม ก่อให้เกิดเป็นเชื้อราตามช่องว่างต่างๆ โดยเชื้อราเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์เราอย่างแน่นอน อีกทั้งการที่ไม่มีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี ยังก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบ รวมถึงโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย

กลับสู่สารบัญ

ทำความเข้าใจระบบท่อลมกับ Flexible duct

อย่างที่ได้เกริ่นไปในหัวข้อที่แล้ว ว่าปัจจุบันแต่ละโรงงาน และอาคารบ้านเรือนนั้น หันมาพึ่งเครื่องปรับอากาศเพื่อดับร้อนกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจกับระบบท่อลม และการติดตั้ง Flexible duct ก็เป็นอีกเกร็ดความรู้หนึ่งที่จำเป็นเลยทีเดียว โดยระบบท่อลมนั้นที่จริงแล้วนั้น เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับกลไกของระบบปรับ และระบายอากาศ

จากภายในไปสุ่ภายนอกนั่นเอง อากาศที่เราหายใจเข้าไปนั้น ที่จริงแล้วมีสิ่งแปลกปลอมมากมายผสมปนอยู่ โดยที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตามระบบท่อลมนั้นมีกลไกในการช่วยคัดกรองสิ่งเหล่านี้ออกไป และทำให้เราได้สูดแต่อากาศที่ดีเข้าไปได้ เบื้องต้นเราสามารถแบ่งระบบท่อลมได้เป็น 4 ประเภทด้วยกันดังนี้

  1. ท่อส่งลมเย็น (Supply air duct – SAD.) ทำหน้าที่คอยส่งลมเย็นออกไปยังบริเวณต่างๆ ภายในตัวอาคารอย่างทั่วถึง อากาศที่ผ่านท่อนี้จะต้องผ่านคอยล์เย็นเสียก่อน มักจะใช้ท่อเหล็กหุ้มสังกะสี และห่อด้วยฉนวนใยแก้วมาวางตามแปลนที่วางเอาไว้
  2. ท่อดึงลมกลับ (Return air duct – RAD.) ทำหน้าที่ดึงอากาศภายในอาคารกลับเข้ามาในระบบ เรียกได้ว่าทำงานควบคู่ไปกับท่อส่งลมเย็น อากาศที่ถูกปล่อยจากท่อส่งลมเย็นเมื่ออยู่ในอาคารสักพักก็จะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ท่อดึงลมกลับมีหน้าที่ดึงอากาศส่วนนี้มาที่คอยล์เย็นอีกครั้ง เพื่อทำการแลกเปลี่ยนความร้อนในระบบ พร้อมส่งต่อให้ท่อส่งลมเย็นนำอากาศส่วนดังกล่าว ไปปล่อยอีกครั้งนั่นเอง
  3. ท่อระบายอากาศ (Exhaust air duct – EAD.) มาถึงส่วนของการระบายอากาศและการทำให้อากาศถ่ายเทกันบ้าง ท่อระบายอากาศเป็นอีกท่อสำคัญที่ควรจะมีในทุกๆ อาคาร ตัวท่อนี้จะดูดอากาศภายในอาคารออกไปสู่ภายนอก เพื่อที่จะได้มีการถ่ายเทอากาศเสียจากข้างในไปหมุนเวียนกับอากาศด้านนอก เป็นกระบวนการที่สำคัญ หากขาดส่วนนี้ไปการหมุนเวียนของอากาศก็จะขาดอย่างแน่นอน ส่วนใหญ่จะใช้ท่อไม่หุ้มฉนวนมาใช้งานกับส่วนนี้
  4. ท่อลมเติมอากาศ (Fresh air duct – FAD.) กระบวนการถ่ายเทหมุนเวียนอากาศจะไม่สำเร็จ หากไม่มีท่อเติมลมอากาศ เมื่อเรามีการนำอากาศภายในอาคารออกไปสู่ภายนอกแล้ว ก็ต้องมีระบบท่อที่จะนำอากาศ จากภายนอกเข้ามาภายในอากาศด้วย เพื่อที่อากาศจะได้หมุนเวียนกันเป็นระบบ เหมือนกันสับเปลี่ยนหน้าที เข้ากะในการทำงาน อากาศจากภายนอกที่เข้าไปภายใน ก็จะต้องผ่านท่อส่งลมเย็นก่อนจะออกไปตามห้องต่างๆ อย่างไรก็ตามการเติมอากาศให้ตัวอาคารนี้ ต้องมีการวางจุดของท่อลมเติมอากาศอย่างรอบคอบ ไม่ควรวางท่อนี้ไว้ใกล้ๆ กับท่อระบายอากาศ เพราะมีโอกาสสูงที่ท่อลมเติมอากาศ อาจจะดูดอากาศ ที่เราปล่อยออก ซึ่งเป็นอากาศที่ไม่ดี และยังไม่ถูกหมุนเวียนกลับเข้ามาข้างในอีกครั้ง อย่างรวดเร็วเกินไป

ท่อทั้ง 4 ประเภทนี้ล้วนมีความสำคัญแตกต่างกันไป จะเห็นได้ว่าที่จริงแล้วระบบท่อลมนี้ก็คล้ายๆ กับการหายใจของมนุษย์เหมือนกัน เพราะจุดประสงค์หลักนั่นก็คือการนำอากาศจากภายในออกไปสู่ภายนอก เพื่อหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้อากาศถ่ายเท ไม่อึดอัด อีกทั้งยังช่วยเพิ่มกำลังการกระจายความเย็น จากเครื่องปรับอากาศออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ในตึกได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย ระบบท่อดังกล่าวนี้สามารถปรับระดับความแรง และอุณหภูมิของอากาศได้

แน่นอนว่า ถ้าหากตึกนั้นๆ มีการออกแบบและวางระบบท่อลม พร้อมติดตั้ง Flexible duct อย่างเรียบร้อย ปัญหาภูมิแพ้กำเริบ หรือโรคทางเดินหายใจต่างๆ ก็จะลดลงไปได้อย่างแน่นอน เนื่องจากมีระบบการจัดการอากาศที่ดีนั่นเอง นอกจากการระบายอากาศเสียออกไปแล้ว ท่อลมยังสามารถนำก๊าซ หรือสารเคมีที่ระเหยขึ้น จากเครื่องจักรภายในโรงงานอุตสาหกรรมออกไปข้างนอก และหมุนเอาอากาศดีๆ เข้ามาแทนได้อีกด้วย ช่วยให้คนที่ทำงานภายในโรงงานนั้นๆ หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น ถึงแม้จะยังต้องมีเครื่องมือในการป้องกันเวลาทำงานอยู่ก็ตาม

กลับสู่สารบัญ

สรุป Flexible duct

การทำความเข้าใจกับระบบท่อลม กระบวนการถ่ายเทอากาศ และวัสดุที่ใช้ติดตั้งระบบอย่าง Flexible duct นั้น นอกจากจะช่วยทำให้เรามีความรู้เชิงโครงสร้างเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย ในปัจจุบันที่ประเทศไทยเรานั้นต้องพบเจอกับภาวะมลพิษฝุ่น PM 2.5 รวมถึงไวรัส COVID – 19 อยู่นั้น หากทุกคนเข้าใจระบบท่อลมดังกล่าว ก็จะเข้าใจหลักการวิธีเคลื่อนที่เบื้องต้นของไวรัสได้ และสามารถหลีกเลี่ยงสถานที่อับ อากาศไม่ถ่ายเทได้ทันเวลา ไม่อาศัยอยู่นานเกินไปแม้จะใส่หน้ากากอนามัยอยู่ก็ตาม เรียกได้ว่าหัวข้อความรู้ที่เป็นประโยชน์ และพลาดไม่ได้จริงๆ

สนใจสินค้าสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Tel: 084-326-6454 Line: @udirons