การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนนั้น ต้องใช้อุปกรณ์มากมายหลายอย่างเป็นส่วนประกอบ นอกจากแบบอาคาร ตัวระบบต่างๆ ก็ต้องถูกวางมาอย่างถูกต้อง เรียบร้อย เตรียมพร้อมติดตั้ง แน่นอนว่าอีกหนึ่งระบบที่สำคัญไม่แพ้ใครนั่นก็คือ ระบบท่อลม หรือระบบการระบายอากาศนั่นเอง ในครั้งนี้เราจะพาทุกคนมาเจาะลึกเกี่ยวกับ แดมเปอร์ หนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ภายในอาคารต่างๆ มีระบบระบายอากาศที่ดี ว่าแล้วเราก็มาดูไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าว่าแดมเปอร์ตัวนี้สำคัญจนขาดไม่ได้ขนาดไหน
สินค้าพร้อมจำหน่วย สนใจกดดูรายละเอียดได้เลย
แดมเปอร์คืออะไร
แดมเปอร์เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญของระบบท่อลม และระบบระบายอากาศต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วแดมเปอร์ จะมีลักษณะเป็นแผ่นหรือวาล์ว เพื่อช่วยกั้นไม่ให้อากาศจากบริเวณที่ไม่ต้องการ หลุดลอดเข้ามาบริเวณที่เราทำการใช้งานอยู่ หรือในบางกรณีแดมเปอร์ ก็สามารถใช้เป็นตัวช่วยในการปรับอากาศบริเวณนั้นๆ ให้มีอุณหภูมิ และความชื้น ที่เหมาะสมกับบริเวณนั้นๆ ได้ด้วยเช่นกัน
แดมเปอร์นั้นมีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับการใช้งานว่าผู้ใช้งานต้องการให้แดมเปอร์เข้าไปช่วยในส่วนใด เราสามารถปรับการตั้งค่าของแดมเปอร์ได้ตามต้องการ หลักๆ แดมเปอร์จะมี 2 ระบบด้วยกันนั่นก็คือ ระบบอัตโนมัติควบคุมด้วยไฟฟ้า หรือลมที่ถูกอัดเข้ามา เพื่อควบคุมมอนิเตอร์ของตัววาล์ว และระบบแมนนวล อย่างการหมุนวาล์ว ปรับการตั้งค่าจากภายในท่อ เป็นต้น
ประเภทของแดมเปอร์
อย่างที่ได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว ตัวแดมเปอร์นั้นมีหลากหลายชนิดให้เราเลือกใช้งานกัน ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีวิธีการใช้งาน และวัตถุประสงค์ในการใช้งานแตกต่างกันไป โดยเราได้รวบรวมแดมเปอร์ ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมาไว้ทั้งหมด 4 ประเภทด้วยกันดังนี้
1. แดมเปอร์แบบตุ่มถ่วงและแรงโน้มถ่วง (Gravity Damper)
แดมเปอร์แบบตุ่มถ่วงและแรงโน้มถ่วงหรือ Gravity Damper นั้นเป็นหนึ่งในแดมเปอร์ควบคุมลม เปรียบเทียบได้เหมือนกับวาล์วทางเดียว หลักการทำงานของแดมเปอร์ชนิดนี้จะอาศัยแรงลมในการขับเคลื่อน ทำให้ลมไหลออกได้เฉพาะทางที่กำหนดเท่านั้น หากไม่มีแรงลมขับเคลื่อนระบบ ก็จะถูกด้วยแรงโน้มถ่วงที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ
ส่วนใหญ่จะติดตั้งแดมเปอร์ชนิดนี้ ในที่ที่ต้องการควบคุมทิศทางการไหลของอากาศ ให้ไปในทางเดียวกัน ป้องกันไม่ให้อากาศจากอีกฝั่งที่ไม่ต้องการ เข้ามาในบริเวณที่ใช้งานแบบอัตโนมัติ หลายๆ คนจะเรียกแดมเปอร์ชนิดนี้ว่าแดมเปอร์ป้องกันลมกลับ มักติดตั้งในท่อดักส์ ผนังอาคาร หรือช่องระบายอากาศตามตึกต่างๆ
2. แดมเปอร์ควบคุมปริมาณลมแบบคั่นโยก (Volume Damper)
แดมเปอร์ควบคุมปริมาณลมแบบคั่นโยก หรือ Volume Damper นั้นมีลักษณะและวิธีการใช้งานที่ค่อนข้างตรงกับชื่อ หากต้องการปรับการตั้งค่าต่างๆ สามารถทำได้ด้วยการปรับคั่นโยก แดมเปอร์แบบนี้ถูกนำมาใช้ในการปรับปริมาณลม มีทั้งใบเปิดใบปิด และข้างใบมัก จะมีสปริงสเตนเลสติดเอาไว้ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของลม ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะได้ปรับได้ตรงความต้องการที่สุด ทำให้แดมเปอร์ชนิดนี้มีการไหลเวียนของลมได้คล่อง มีทั้งแบบเหลี่ยม แบบกลม และแบบใบพัดให้เลือกติดตั้ง สามารถติดตั้งให้ระบบท่อลมได้อย่างสะดวก
3. แดมเปอร์ควบคุมปริมาณลมแบบมอเตอร์ (Motorized Damper)
แดมเปอร์ควบคุมปริมาณลมแบบมอเตอร์ หรือ Motorized Damper เรียกได้ว่ามีจุดประสงค์ในการใช้งานคล้ายกับ แดมเปอร์ควบคุมปริมาณลมแบบคั่นโยกเป็นอย่างมาก เพราะเน้นในเรื่องของการปรับปริมาณการรับลม พร้อมทั้งมีระบบเปิดปิดป้องกันการรั่วไหลของลมแต่จุด ที่ทำให้แตกต่างนั้นก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมสิ่งดังกล่าว
จะใช้เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาแทน เพราะฉะนั้นแดมเปอร์แบบนี้จะต้องมีระบบในการควบคุม อาจจะเป็นโปรแกรมหรือสวิตช์เปิด – ปิด ขึ้นอยู่กับรุ่นที่เลือกใช้งาน ทำให้ใช้งานได้ง่าย สามารถปรับการตั้งค่าได้จากระยะไกล ตัวมอเตอร์มีหลากหลายกำลังให้เลือก โดยส่วนใหญ่สามารถหาซื้อได้ง่ายจะเป็นแบบ 12 โวลท์, 24 โวลท์ และ 220 โวลท์ สามารถติดในระบบท่อลมได้เช่นกัน
4. แดมเปอร์ป้องกันไฟไหม้ (Fire Damper)
แดมเปอร์ป้องกันไฟไหม้ หรือ Fire Damper เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญในการป้องกันอัคคีภัย มักจะติดตั้งไว้ในท่อลม หลายคนเรียกว่า “ลิ้นกันไฟ” ในตัวของแดมเปอร์ป้องกันไฟไหม้จะมีฟิวส์ละลายอยู่ อุปกรณ์นี้ เมื่อโดนอุณหภูมิสูงเท่าที่ตั้งค่าไว้ ก็จะละลายตามชื่อ และเมื่อสลายไป ก็จะทำให้มีปฏิกิริยาต่อสปริงที่ติดตั้งเอาไว้ ตัวสปริงจะเกิดการดีดกลับ ปิดตำแหน่งช่องลมต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัยแดมเปอร์ ก็จะทำหน้าที่ปิดท่อลมกั้นไม่ให้ไฟลามออกไปส่วนอื่นได้ ชะลอการลุกลามของไฟ และช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือจะต้องมีคุณสมบัติค่าการทนไฟ ไม่น้อยไปกว่าโครงสร้างหลักของอาคารนั้นๆ
5. แดมเปอร์ควบคุมควัน (Smoke Damper)
แดมเปอร์ควบคุมควัน หรือ Smoke Damper ยังคงอยู่ในหมวดของอุปกรณ์สำคัญ ในการป้องกันอัคคีภัย หลายคนเรียกว่า “ลิ้นกันควัน” ถูกติดตั้งเพื่อกันไม่ให้ควันถูกส่งต่อไปในระบบช่องลมส่วนอื่นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อแดมเปอร์ชนิดนี้ ตรวจจับเจอควันเกินปริมาณที่ตั้งค่าไว้ ก็จะเริ่มกระบวนการปิดกั้นการไหลของอากาศภายในท่อทันที ทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ มักถูกติดภายในระบบปรับอากาศ (ท่อ HVAC) ซึ่งถูกใช้กันเป็นอย่างมากในตึกอาคารขนาดใหญ่ เช่น สำนักงานและห้างสรรพสินค้า เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการชะลอการลุกลามของเหตุเพลิงไหม้ อย่างไรก็ตามวัสดุที่ใช้ผลิตแดมเปอร์ควบคุมควันนั้น ไม่จำเป็นต้องมีค่าการทนไฟเท่ากับแดมเปอร์ป้องกันไฟไหม้
6. แดมเปอร์ป้องกันไฟไหม้และควบคุมควัน (Fire & Smoke Damper)
แดมเปอร์ป้องกันไฟไหม้และควบคุมควัน หรือ Fire & Smoke Damper นั้นเรียกได้ว่าเป็นแดมเปอร์ลูกผสม เพราะติดตั้งเพียงตัวนี้ตัวเดียว ก็สามารถป้องกันได้ทั้งในส่วนของไฟและควัน ลักษณะการทำงานของแดมเปอร์ชนิดนี้ เหมือนกับการทำงานของลิ้นกันไฟ และลิ้นกันควัน แน่นอนว่าแดมเปอร์จะต้องทำงานโดยอัตโนมัติ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ต่างๆ ในส่วนของราคานั้น หากติดแดมเปอร์แบบนี้ ก็จะประหยัดกว่าการแยกติดแดมเปอร์สองตัวไปโดยปริยาย เรียกได้ว่าเป็นแดมเปอร์ป้องกันภัยที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง
7. แดมเปอร์ระเบิด (Blast Damper)
แดมเปอร์ระเบิด หรือ Blast Damper เป็นแดมเปอร์ระดับอุตสาหกรรม มักถูกติดตั้งเอาไว้เพื่อป้องกันเหตุการณ์ระเบิดจากปฏิกิริยาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น หลักการทำงานของแดมเปอร์ชนิดนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น โดยแดมเปอร์จะเริ่มทำงานอัตโนมัติ เมื่อเกิดแรงดันเกินค่าที่กำหนดเอาไว้ สปริงในตัวแดมเปอร์จะช่วยปิดกั้นช่องอากาศ หน่วงเวลาทำให้อากาศเสียไม่หลุดออกไปไหน มักจะถูกติดไว้ในระบบปรับอากาศ (ท่อ HVAC) หลายๆ โรงงานก็มีการสั่งทำแดมเปอร์ระเบิดเป็นสเปคพิเศษ เพื่อเหมาะสมกับการใช้งานของโรงงานที่สุด
บทความเพิ่มเติม
วัสดุใดบ้างที่ถูกนำมาผลิตเป็นแดมเปอร์
อย่างที่เห็นว่าแดมเปอร์นั้น มีหน้าที่ที่เรียกได้ว่าต้องทำงานตลอดเวลา เพราะฉะนั้นแล้ววัสดุที่นำมาใช้ผลิตเป็นแดมเปอร์นั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งานอย่างหนัก หลักๆ แล้วจะสามารถพบเจอแดมเปอร์ที่ผลิตมาจาก 3 วัสดุดังนี้
- สังกะสี : เป็นวัสดุยอดฮิตราคาไม่สูงที่นำมาใช้ผลิตแดมเปอร์ โดดเด่นเรื่องความคงทนต่อการสึกกร่อน และทนความร้อนจากแสงแดดเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทนต่อการเกิดสนิม เรียกว่าเป็นวัสดุพื้นฐานในการผลิตแดมเปอร์ ส่วนใหญ่มักใช้สังกะสีหนาประมาณ 0.8 – 1.0 มิลลิเมตรเป็นค่าพื้นฐาน หลายๆ โรงงานผลิตจะนำสังกะสีไปผสมกับโลหะชนิดอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแดมเปอร์ที่ผลิตออกมา
- เหล็กชุบสังกะสี : หลายๆ โรงงานเลือกที่จะใช้เหล็กที่มีความคงทนมากกว่า และโดนเด่นในเรื่องของการทนอุณหภูมิที่สูง มาใช้ในการผลิตแดมเปอร์ เหล็กเหมาะกับการขึ้นรูปทรงต่างๆ มีความแข็งแรงทนทานไม่แพ้ใคร โดยการที่นำเหล็กมาชุบสังกะสีหรือที่เรียกกันว่าการชุบซิงค์ จะช่วยทำให้เหล็กนั้นๆ เกิดชั้นในการป้องกันการผุกร่อนมากกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยป้องกันเรื่องของความชื้นที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยการชุบสังกะสีนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่สูง มีสังกะสีหลายแบบให้เลือกชุบ ส่วนใหญ่ที่เห็นนำมาใช้งานกันจะเป็นการชุบซิงค์ขาว และการชุบซิงค์สีรุ้ง
- สเตนเลส : เป็นโลหะอีกชนิดหนึ่งที่มีความคงทน สามารถนำมาขึ้นรูปได้หลายแบบ จะรีดร้อน รีดเย็น หรือปรุบปรุงด้วยความร้อนวิธีต่างๆ ก็สามารถทำได้ มีคุณสมบัติในการทนอุณหภูมิสูงๆ พื้นฐานแล้วสเตนเลสทนต่อการกัดกร่อนได้ดี ทำความสะอาดง่าย สะดวกต่อการนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์ชนิดต่างๆ มีความแข็งแรง และความยืดตัว โดยเราสามารถแบ่งชนิดของสเตนเลสเป็น 3 ชนิดหลักๆ ด้วยกันคือ สเตนเลสออสเทไนติก, สเตนเลสมาร์เทนซิติก และ สเตนเลสเฟอร์ริติก
มาตรฐานสากลของแดมเปอร์
แน่นอนว่าการผลิตอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง นอกจากการคัดเลือกวัสดุมาใช้ผลิตให้ตรงกับวัตถุประสงค์แล้ว การผลิตนั้นๆ ก็ต้องดำเนินการอยู่บนมาตรฐานสากล แดมเปอร์ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าในการซื้อแดมเปอร์นั้น อาจจะไม่ได้เห็นข้อกำหนดเกี่ยวกับตัวมาตรฐานดังกล่าวมากนัก แต่เนื่องจากแดมเปอร์หลายๆ ตัวก็เป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งที่ติดอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของท่อลม หลักๆ แล้วจะมีมาตรฐานสากลอยู่ 2 ตัวด้วยกันที่ช่วยคัดกรองว่าอุปกรณ์ชิ้นดังกล่าวนั้น สามารถนำมาใช้งานได้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายนั่นก็คือ
- SMACNA (Sheet Metal and Air Conditioning Contractors National Association) มาตรฐานการขึ้นรูปท่อลมที่ทั่วโลกยอมรับ โดยประเทศไทยนั้นได้มีการยึดหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ และเพิ่มรายละเอียดการคำนวณต่างๆ ที่สอดคล้องกับการผลิตและนำไปใช้งานจริงเข้าไป
- ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating and Air – Conditioning Engineers) มาตรฐานงานระบบวิศวกรรม ซึ่งตัวองค์กรเอกชนนี้ดั้งเดิมก่อตั้งขึ้นที่ประเทศอเมริกา และมีการใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากมาตรฐานทั้งสองแล้ว สำหรับแดมเปอร์ป้องกันไฟไหม้ยังมีมาตรฐานสำคัญที่ขาดไม่ได้อย่างมาตรฐาน UL 555 Standard for Safety Fire Dampers อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นข้อกำหนดเลยทีเดียว โดยมาตรฐานนี้ได้ระบุเอาไว้ว่า แดมเปอร์ป้องกันไฟไหม้นั้นๆ ต้องมีการทนไฟตั้งแต่ 3 ชั่วโมงเป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าวนั่นเอง
รู้หรือไม่? นอกจากแดมเปอร์สำหรับระบบท่อต่างๆ แล้วยังมีแดมเปอร์เพื่อการใช้งานแบบอื่นอีก
ข้างต้นเราได้แบ่งประเภทของแดมเปอร์ไว้ทั้งหมด 7 ประเภทด้วยกัน สามารถเรียกแดมเปอร์เหล่านั้นได้ว่าแดมเปอร์กระแส เพราะเป็นอุปกรณ์เชิงกลที่ใช้ในท่อชนิดต่างๆ เน้นไปที่การปรับรับกั้นลม รวมถึงช่วยควบคุมอุณหภูมิในห้อง แต่รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วแดมเปอร์นั้นยังมีอีกหลายชนิดด้วยกัน หากแต่แดมเปอร์ชนิดอื่นๆ นั้นไม่ใช่แดมเปอร์กระแส จึงไม่ได้ถูกติดตั้งไว้ในระบบท่อเป็นหลัก สำหรับหัวข้อนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับแดมเปอร์อื่นๆ เพิ่มเติมไปด้วยกัน
1. แดมเปอร์มวล
แดมเปอร์ประเภทนี้จะเน้นไปที่การลดแรงสั่นสะเทือน หรือที่หลายคนรู้จักกันในนามตัวดูดซับฮาร์มอนิก แดมเปอร์มวลจะมีระบบสปริงอยู่ ซึ่งช่วยทำให้แรงสั่นสะเทือนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยการสั่นสะเทือนต่างๆ นั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้จากแผ่นดินไหว แรงลม หรือแหล่งมนุษย์จักรกลอย่างรถยนต์ หรือผู้คนจำนวนมากที่เดินขึ้นลงโครงสร้างนั้นๆ พร้อมๆ กัน ซึ่งถ้าหากไม่มีตัวแดมเปอร์มวลช่วย ก็อาจทำให้โครงสร้างนั้นเกิดอันตราย และพังลงได้
- มักจะติดตั้งเอาไว้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์สั่นสะเทือนรุนแรงอย่างแผ่นดินไหว หรือการล้มของโครงสร้างอย่างเหตุการณ์ตึกถล่ม
- ปัจจุบันยังนิยมนำมาติดตั้งไว้ภายในระบบรถยนต์อีกด้วย โดยจะติดไว้ที่บริเวณเพลาข้อเหวี่ยง ช่วยลดการสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในรถยนต์คันนั้นๆ
- ใช้ในอุตสาหกรรมยานอวกาศ เพื่อลด และรักษาเสถียรภาพของการดูดในอวกาศ
- ใช้ในกังหันลม ช่วยปรับมาตรฐานของกังหันลม
- ใช้แขวนอยู่บนสายเคเบิลหรือในสายส่งไฟฟ้า มองสังเกตได้ง่ายๆ แดมเปอร์มวลดังกล่าวมักจะมีขนาดที่เล็ก รูปร่างเหมือนบาเบล แขวนเอาไว้ที่สายเคเบิลหรือปรับแต่งให้เข้ากับโครงสร้าง ของเสาส่งไฟฟ้าอันนั้นๆ
2. หน้ากากแดมเปอร์
หน้ากากแดมเปอร์ หรือ Grill Volume Damper เรียกว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งของแดมเปอร์ ควบคุมปริมาณลมที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศต่างๆ โดยหลักๆ แล้วหน้ากากแดมเปอร์ถูกแบ่งเป็น 2 โมเดลด้วยกันคือ
- Butterfly Damper หน้ากากแดมเปอร์แบบปีกผีเสื้อ ช่วยควบคุมปริมาณการกระจายของลม ติดตั้งได้ง่าย ปรับแต่งได้ด้วยการใช้ระบบความฝืดของใบปิด ทำให้เราได้ประมาณลมที่ต้องการ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญ จะไม่แนะนำให้ติดหน้ากากแดมเปอร์ชนิดนี้เข้ากับท่อเฟล็กซ์ ส่วนใหญ่แล้วหน้ากากแดมเปอร์แบบปีกผีเสื้อ จะทำมาจากเหล็กชุบสังกะสี และพ่นสีพื้นฐานอย่างสีดำ หรือพ่นสีอื่นๆ ตามแต่ลูกค้าต้องการ ถูกออกแบบมาให้ติดกับหน้ากากแอร์ 4 รุ่นด้วยกันคือ RD Model, JD Model, 4-PFR Model และ FPD Model
- Opposed Blade Damper หน้ากากแดมเปอร์ช่องลมกลับ ใบที่ใช้จะเอาไว้ใช้เปิดปิดลม ทิศทางตรงกันข้ามในเวลาเดียวกัน ช่วยปรับลมบริเวณหลังหน้ากากแอร์ อีกทั้งยังช่วยเรื่องการวัด และการควบคุมรูปแบบการเคลื่อนตัวของอากาศให้ไหลลื่นที่สุด มักจะผลิตด้วยอะลูมิเนียมเป็นหลัก มีตัวควบคุมหน้ากากแดมเปอร์ชนิดนี้ 2 ประเภทด้วยกันคือ Lever (Standard Operator) และ Screw (Optional Operator)
บทความเพิ่มเติม
ตัวอย่างสถานที่ที่ใช้แดมเปอร์มวลเข้ามาช่วยเหลือ
ในต่างประเทศได้มีการนำแดมเปอร์มวล เข้ามาช่วยในการลดแรงสั่นสะเทือนด้วยกันมากมาย ซึ่งเราได้รวบรวมสถานที่ที่ใช้แดมเปอร์มวล มาไว้เรียบร้อยแล้วตามนี้
1. สหรัฐอเมริกา
เป็นประเทศที่มีข้อมูลออกมาว่า ใช้แดมเปอร์มวลในการติดตั้งในสถานที่สำคัญต่างๆ มากเป็นอันดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น
- Citigroup Center Newyork สร้างเสร็จเมื่อปีค.ศ.1977 เป็นตึกระฟ้าแห่งแรกที่มีการใช้แดมเปอร์มวล ลดการสั่นสะเทือน และการสั่นไหว เป็นการติดตั้งในเวอร์ชันคอนกรีต
- Comcast Center Philadelphia ศูนย์เทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่ประกอบได้ด้วย Tuned Liquid Column Damper (TLCD)
- John Hancock Tower Boston หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในบอสตัน มีการเพิ่มแดมเปอร์มวลแบบปรับแต่งเข้าไปเพิ่ม ทำให้เป็นอาคารหลังแรกที่ใช่แดมเปอร์มวลแบบปรับแต่ง
- One Rincon Hill-San Francisco อาคารที่อยู่อาศัยแบบคอมเพล็กซ์ เป็นอาคารแห่งแรกในแคลิฟอร์เนีย ที่ใช้แดมเปอร์มวลแบบปรับด้วยของเหลว เข้ามาลดแรงสั่นสะเทือน
- Park Tower Chicago อาคารแรกในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการออกแบบให้ใช้แดมเปอร์มวลตั้งแต่แรก โดยสร้างเสร็จในปี 2543
- Random House Tower
- Los Angeles International Airport
2. ประเทศแคนาดา
- One Wall Center (แวนคูเวอร์) มีการใช้แดมเปอร์มวลคอลัมภ์ของเหลว ซึ่งมีการปรับแต่งด้วยเทคนิคเฉพาะ ของแดมเปอร์มวลขณะติดตั้ง
- CN Tower (โตรอนโต) หรือ หอคอยแห่งชาติแคนาดา
3. ประเทศเยอรมัน
- หอส่งสัญญาณโทรทัศน์ (เบอร์ลิน) หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศเยอรมัน มีการติดตั้งแดมเปอร์มวลลดแรงสั่นสะเทือนแบบปรับแต่ง อยู่ที่ยอดแหลมของโครงสร้าง
- เครื่องส่งสัญญาณ VLF DHO38 (Saterland) เครื่องส่งสัญญาณขนาดใหญ่ของกองทัพเยอรมัน ใช้สำหรับส่งสัญญาณไปที่เรือดำน้ำ
4. ประเทศญี่ปุ่น
สะพาน Akashi Kaikyo ระหว่างฮอนชูและชิโคคุ ปัจจุบันเป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก มีการใช้แดมเปอร์มวลปรับแต่งมาแขวนเอาไว้ในอาคาร
- Tokyo Skytree
- Yokohama Landmark Tower
นอกจากตัวอย่างที่เรายกมานี้แล้ว ยังมีอีกมากมายหลายประเทศด้วยกัน ที่นำแดมเปอร์มวลเข้ามาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งยุโรปอย่างสหราชอาณาจักร หรือฝั่งเอเชียอย่างไต้หวัน อินเดีย รัสเซีย และประเทศอื่นๆ อีกมากมายต่างก็เห็นความสำคัญของอุปกรณ์ดังกล่าว
กลับสู่สารบัญฝากทิ้งท้าย
สุดท้ายนี้แดมเปอร์ถือว่าเป็นอีกชิ้นส่วนสำคัญ ในการก่อสร้างเลยทีเดียว เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยการติดตั้งนั้นก็ควรมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้วางแผน และทำการดูแลการก่อสร้างนั้นๆ อย่างละเอียด หรือถ้าหากใครต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อร้านค้าวัสดุก่อสร้าง หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เช่นกัน
สนใจสินค้าสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Tel: 084-326-6454 Line: @udirons