ฉนวนกันความร้อน Rockwool คือวัสดุกันความร้อนที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ด้วยความสามารถกันความร้อนและเปลวไฟลุกลามที่ดีของมัน รวมไปถึงตัววัสดุยังมีความสามารถในการกันและดูดซับเสียงที่ยอดเยี่ยม ทำให้ความนิยมในตัวมันแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความเป็นวัสดุที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้มีหลาย ๆ คนไม่รู้ว่าควรติดตั้งฉนวนกันความร้อน Rockwool ยังไงให้ถูกต้องและไม่เกิดปัญหาภายหลังกันแน่ วันนี้เราจึงจะมาดูกันว่าฉนวนกันความร้อน Rockwool ควรจะติดตั้งอย่างไร พร้อมกับความสำคัญในเหตุเพลิงไหม้ และการใช้งานในฐานะฉนวนกันเสียงอีกด้วย
วิธีการติดตั้งฉนวนกันความร้อน Rockwool ให้ถูกหลัก
การติดตั้งกับโครงสร้างอาคาร
- ใส่ฉนวนกันความร้อนเข้าไปให้เต็มระหว่างโครงของโครงสร้างอาคาร
- หากขนาดของฉนวนนั้นไม่พอดีกับโครงสร้างดังกล่าว สามารถใช้คัตเตอร์ หรือมีดตัดแต่งแผ่นฉนวนได้ตามขนาดความต้องการให้พอดีกับโครงสร้างอาคาร
- ปิดทับด้วยแผ่นยิปซัมหรือแผ่นสมาร์ทบอร์ด แล้วฉาบเก็บรอยต่อของสกรูหรือหัวน็อต ปิดด้วยการทาสีทับอีกชั้นหนึ่ง
การติดตั้งกับโครงสร้างหลังคา
- ระบบหลังคาเดี่ยว
- ติดตั้งตะแกรงกรงไก่ 1 นิ้ว x 1 นิ้วบนแป
- ปูฉนวนกันความร้อนโดยให้ด้านที่มีฟอยล์อยู่ด้านหลัง
- วางแผ่นฉนวนให้ติดกัน โดยแผ่นฟอยล์ซ้อนทับกัน 5 เซนติเมตร
- ติดตั้งแผ่นเมทัลชีท
- ระบบหลังคา 2 ชั้น
- ติดตั้งแผ่นหลังคาชั้นแรก
- ติดตั้ง Sub Girth ตรงกับแนวแป โดยใช้สกรูยึด
- ติดตั้งฉนวนกันความร้อนตามแนวแป
- ให้ด้านที่มีฟอยล์อยู่ด้านบนอยู่เสมอ
- ติดตั้งขาคลิปบน Sub Girth เพื่อยึดแผ่นหลังคา
- ติดตั้งแผ่นหลังคากับขาคลิป โดยมีช่องว่างระหว่างฉนวนกันความร้อนและแผ่นหลังคา 1 นิ้ว
ความสำคัญของฉนวนกันความร้อน Rockwool กับเหตุเพลิงไหม้
ในประเทศไทย ข่าวอุบัติเหตุเพลิงไหม้นั้นเป็นสิ่งที่เราได้เห็นตลอดทั้งปี ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ให้กับชีวิตของใครหลาย ๆ คน และยังเกิดขึ้นได้ง่ายจากเหตุไฟฟ้าลัดวงจรอีกด้วย ยกตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานครเอง ที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอย่างบ่อยครั้ง
โดยจะยกตัวอย่างจำนวนครั้งของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ที่มีสาเหตุมาจากไฟฟ้าลัดวงจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ไปจนถึงปี พ.ศ. 2564 ในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งมีสถิติดังต่อไปนี้
- ปี พ.ศ. 2560 มีการเกิดอัคคีภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร 785 ครั้ง
- ปี พ.ศ. 2561 มีการเกิดอัคคีภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร 654 ครั้ง
- ปี พ.ศ. 2562 มีการเกิดอัคคีภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร 638 ครั้ง
- ปี พ.ศ. 2563 มีการเกิดอัคคีภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร 629 ครั้ง
- ปี พ.ศ. 2564 ช่วง 3 เดือนแรก มีการเกิดอัคคีภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร 104 ครั้ง
จะเห็นว่า กรณีเพลิงไหม้ในอาคาร โดยสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจรมีสูงมาก แม้จะเป็นในพื้นที่ที่ความเจริญสูงอย่างในกรุงเทพมหานครก็ตาม โดยความรุนแรงจะยิ่งสูงขึ้นหาก วัสดุที่ตกแต่งภายในอาคารมีคุณสมบัติติดไฟได้ง่าย ซึ่งจะสร้างความเสียหายได้เป็นบริเวณกว้าง
ทำให้การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติไม่ติดไฟ เช่น ฉนวนใยหินกันความร้อน ก็จะมีส่วนช่วยไม่ให้ความรุนแรงจากเพลิงไหม้ขยายวงกว้าง หรือช่วยชะลอ ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถเข้ามาระงับเหตุได้ทันท่วงที
อีกทั้งฉนวนใยหิน เมื่อโดนการเผาไหม้ ก็จะไม่ก่อให้เกิดควัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่ติดอยู่ในบริเวณเพลิงไหม้สำลักควันจนเสียชีวิต
สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในการออกแบบอาคารสมัยใหม่ จึงนิยมใช้ฉนวนใยหิน เป็นองค์ประกอบในการตกแต่งภายในอาคารกันมากยิ่งขึ้น นั่นเพื่อป้องกันความร้อน กันเสียง และปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่เกิดจากเปลวไฟทั้งหลาย
ฉนวนกันความร้อน Rockwool ใช้งานในฐานะฉนวนกันเสียงได้อย่างไร
การป้องกันเสียงจากภายนอกอาคาร
การกรุฉนวนใยหินภายในช่องว่างผนังเบา หรือผนังก่ออิฐสองชั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเสียงให้แก่ผนังได้เป็นอย่างมาก โดยฉนวนใยหิน ทำหน้าที่สลายพลังงานเสียงที่อยู่ภายในช่องว่างของผนัง ช่วยให้รู้สึกว่าเสียงที่ทะลุผ่านผนังเบาลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับผนังเดียวกับที่ไม่ได้ใส่ฉนวนใยหินเอาไว้ และการกรุฉนวนใยหินภายในผนังที่เป็นกรอบอาคาร หรือที่เรียกว่า ผนัง Facade เอง ก็จะช่วยลดความดังของเสียงโดยรวมที่อยู่ภายในอาคารได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย
ซึ่งการประยุกต์นำฉนวนใยหินมาป้องกันเสียงจากระหว่างชั้นอาคารเองก็ทำได้เช่นเดียวกัน ด้วยการวางฉนวนใยหินก่อนเทปูนทับหนา 20 เซนติเมตร จะช่วยลดเสียงดังและเสียงกระแทกจากพื้นชั้นบนลงไปชั้นล่างได้มากถึง 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นคอนกรีตที่ไม่ได้มีการรองด้วยฉนวนใยหินก่อน หรือแม้แต่ในงานหลังคา อย่างเสียงฝนตกลงบนหลังคาเมทัลชีท ซึ่งสร้างเสียงรบกวนอย่างมากเข้ามายังภายในอาคาร การติดตั้งฉนวนใยหินใต้หลังคาและปิดทับด้วยแผ่นยิปซั่ม ก็สามารถช่วยลดเสียงดังจากฝนตกได้มาถึง 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
การป้องกันเสียงจากภายในอาคาร
วัสดุที่ดูดซับเสียงสะท้อนได้ดีอย่างฉนวนใยหิน ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมความก้องภายในห้องให้อยู่ในค่าที่เหมาะสม สำหรับความต้องการในการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น ห้องประชุม ซึ่งความก้องที่มากเกินไปจะทำให้เสียงก้องสะท้อน จนภายในห้องไม่สามารถเข้าใจบทสนทนาได้
และในทางกลับกัน ถ้าหากห้องประชุมมีความก้องที่น้อยเกินไป ก็จะทำให้คนที่พูดกันภายในห้องต้องออกแรงเปล่งเสียงเยอะจนเกินความจำเป็น ทำให้รู้สึกเหนื่อย และยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างเห็นได้ชัดเจน
สรุป
วิธีการติดตั้งฉนวนกันความร้อน Rockwool นั้น ไม่ได้ยากหรือมีความซับซ้อนใด ๆ มากมายอย่างที่ใครหลาย ๆ คนเป็นกังวล เพียงแค่ใส่ฉนวนกันความร้อน Rockwool ที่เตรียมมาเข้าไปให้เต็มช่องว่างระหว่างโครงเพียงเท่านั้น หรือปูทับในส่วนหลังคาให้เต็มพื้นที่ แถมยังสามารถใช้คัตเตอร์กรีดและตัดแต่งรูปร่างของตัวฉนวนได้อย่างง่ายดาย ไม่ยุ่งยากและยังรวดเร็ว รวมไปถึงช่วยให้โครงสร้างบ้านของเราปลอดภัยจากอัคคีภัย และยังช่วยในเรื่องของอุณหภูมิภายในที่ลดลง และยังกันเสียงได้ดีอีกด้วย
ซึ่งหากใครที่กำลังมองหาฉนวนกันเสียง ฉนวนกันความร้อน Rockwool ราคาดี ๆ อยู่ล่ะก็ สามารถติดต่อมาได้ที่เว็บไซต์ UDWASSADU ที่นอกจากเรื่องงานฉนวนกันความร้อนแล้ว เรายังเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของวัสดุงานช่างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบปรับอากาศ, ระบบสุขาภิบาล หรือระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ด้วยประสบการณ์ของร้านที่มีมายาวนานกว่า 25 ปี รับประกันคุณภาพสินค้นที่คุ้มค่าคุ้มราคาอย่างแน่นอน
REF
https://furringline.com/articles/what-is-rockwool-acoustic-insulation-safe-n-silent-pro/