ท่อลมแอร์ หรือท่อดักท์ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในระบบปรับอากาศ และระบบระบายอากาศภายในอาคาร เพราะท่อลมแอร์จะเป็นตัวนำพาอากาศไปจ่ายในส่วนต่างๆ ของอาคารตามที่เราได้ออกแบบเอาไว้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนในอาคารดียิ่งขึ้น ท่อลมระบายอากาศ ท่อลมแอร์นั้นมีกี่ประเภท และระบบระบายอากาศในอาคารเองมีความจำเป็นอย่างไร ต่อแบบไหนถึงจะเรียกว่าดี วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน
ประเภทของท่อลมแอร์
ในงานก่อสร้างและติดตั้งงานระบบระบายอากาศภายในอาคาร จะมีการจำแนกประเภทของท่อลมระบายอากาศ ท่อลมแอร์ออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ตามรูปแบบการใช้งานที่กำหนดเอาไว้ ดังนี้
1.Supply Air Duct (ท่อจ่ายลมเย็น)
ท่อจ่ายลมเย็น หรือ Supply Air Duct เป็นท่อที่นำพาอากาศเย็นจากคอยล์เย็นไปจ่ายตามส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นห้องนอนในบ้านอยู่อาศัย โถงต้อนรับภายในโรงแรม หรือห้องประชุมในสำนักงานต่าง ๆ เพื่อลดอุณหภูมิบริเวณนั้น ๆ ให้เย็นลง ส่วนใหญ่ทำจากแผ่นเหล็กอาบสังกะสีพับขึ้นรูป และหุ้มด้วยฉนวนใยแก้วอีกชั้นหนึ่ง
2.Return Air Duct (ท่อดึงลมกลับ)
ท่อดึงลมกลับ หรือ Return Air Duct มีลักษณะภายนอกเหมือนกับท่อจ่ายลมเย็นทุกประการ แตกต่างเพียงหน้าที่ ซึ่งจะดูดอากาศที่จ่ายออกไปด้วยท่อจ่ายลมเย็นซึ่งแลกเปลี่ยนความร้อนกับอากาศ และมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นให้กลับมาที่คอยล์เย็น เพื่อมาแลกเปลี่ยนความร้อนที่ผิวท่อของคอยล์เย็น และอุณหภูมิให้ลดลงเพื่อส่งไปจ่ายในห้องด้วยท่อจ่ายลมเย็นอีกครั้ง
3.Exhaust Air Duct (ท่อระบายอากาศ)
ท่อระบายอากาศ หรือ Exhaust Air Duct ทำหน้าที่ระบายอากาศภายในอาคารออกมาปล่อยทิ้งยังนอกอาคาร ซึ่งอาจดูดอากาศมาจากห้องน้ำ หรือห้องอื่น ๆ ที่ต้องการระบายอากาศภายในนั้น โดยท่อระบายอากาศมักไม่หุ้มฉนวนรอบ ๆ ท่อ
4.Fresh Air Duct (ท่อลมเติมอากาศ)
ท่อลมเติมอากาศ หรือ Fresh Air Duct ทำหน้าที่เติมอากาศให้กับห้องนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีเครื่องปรับอากาศหรือไม่ก็ตาม โดยเมื่อมีการระบายอากาศออกไปนอกอาคาร ก็จำเป็นจะต้องมีการเติมอากาศกลับเข้าไปเพื่อให้เป็นการระบายอากาศที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ควรติดตั้งช่องดูดอากาศอยู่ใกล้กับช่องระบายอากาศ เพราะอาจดูดอากาศเสียที่พึ่งปล่อยออกนอกอาคารกลับเข้ามาอีก ท่อเติมอากาศมักจะไม่มีการหุ้มฉนวน และเมื่อติดตั้งนอกอาคารก็มักจะทาสีให้เข้ากันกับตัวอาคารอีกด้วย
ความจำเป็นของระบบระบายอากาศภายในอาคาร
วัตถุประสงค์ของระบบระบายอากาศภายในอาคาร
- เพื่อควบคุมระดับของสิ่งปนเปื้อนในอากาศ เช่น เชื้อโรค, ฝุ่นละออง, ไอสารเคมี, ก๊าซ, ควัน ฯลฯ ในพื้นที่การปฏิบัติงานของอาคาร หรือโรงงานให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งสิ่งปนเปื้อนเหล่านี้หากได้รับเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการสะสมในอวัยวะต่าง ๆ และจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยของบุคลากร
- เพื่อควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นให้อยู่ในระดับที่รู้สึกสบายได้ เพราะถ้าความร้อนและความชื้นไม่เหมาะสม ในกรณีของบุคลากร จะทำให้เกิดการเจ็บป่วย หงุดหงิด อึดอัด ไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงการเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุและการลาออกของพนักงาน ในกรณีของชิ้นงาน อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชิ้นงาน และวัตถุดิบบางประเภทได้
ประโยชน์ของระบบระบายอากาศภายในอากาคาร
- ในสภาวะของห้องทำงาน สถานประกอบการ หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีภาวะปิด ระบบระบายอากาศสามารถควบคุมระดับของสิ่งปนเปื้อนในอากาศ ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้
- ระบบระบายอากาศสามารถควบคุมความร้อน และความชื้นให้อยู่ในระดับที่ส่งเสริมการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ให้รู้สึกสบาย ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดี และในทางตรงกันข้าม หากผู้ปฏิบัติหน้าที่รู้สึกไม่สบายอันเกิดจากความร้อนและความชื้น จะทำให้หงุดหงิด เสียสมาธิ อึดอัด และในที่สุดก็จะมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ อันนำไปสู่ผลผลิตที่ตกต่ำ หรืออาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ระบบระบายอากาศจะป้องกันไม่ให้เกิดอัคคีภัยและการระเบิด เพราะในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท จะมีการใช้สารเคมีที่เป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิต ซึ่งหากมีไอสารของตัวทำละลายฟุ้งกระจายในปริมาณที่เข้มข้น โดยไม่มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม หากเมื่อใดเกิดมีความร้อนหรือประกายไฟในบริเวณนั้น ก็จะทำให้เกิดการติดไฟลุกไหม้ได้
- ระบบระบายอากาศที่ดีจะช่วยประหยัดทรัพยากร ตัวอย่างเช่น ระบบดักเก็บวัสดุที่ฟุ้งกระจายในสถานประกอบการ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะนำสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์ได้อีก รวมถึงลดปัญหาต้นทุนการกำจัด จัดการความสกปรก ไม่เป็นระเบียบของการฟุ้งกระจายของวัสดุ และนอกจากนี้จะช่วยให้สถานประกอบการนั้นมีสุขอนามัยที่ดีไม่ก่อให้เกิดโรคจากมลภาวะทางอากาศ
ระบระบายอากาศภายในอาคารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ระบบเจือจางอากาศ
ระบบเจือจางอากาศ คือระบบที่จะช่วยลดจำนวนสารปนเปื้อนในอากาศ โดยผสมอากาศที่ปนเปื้อนกับอากาศบริสุทธิ์และสะอาด ในการติดตั้งระบบเจือจางนั้นจะมีการติดตั้งพัดลมดูดอากาศขนาดใหญ่ไว้ที่ผนังหรือหลังคาโรงงาน นิยมใช้ระบบแบบนี้ก็ต่อเมื่อ
- มลพิษทางอากาศอยู่ในระดับต่ำ และระดับความเป็นพิษต่ำถึงปานกลาง
- ในพื้นที่มีการสะสมของสารปนเปื้อนในอากาศจำพวกไอระเหยหรือก๊าซ
- การปล่อยมลพิษมีความสม่ำเสมอ และกระจายตัวอย่างกว้างขวาง
- แนะนำสำหรับสภาพแวดล้อมภูมิอากาศปานกลาง
- ความร้อนภายในพื้นที่สามารถถูกระบายออกสู่ภายนอกได้
- แหล่งที่มาของสารปนเปื้อนซึ่งเคลื่อนที่ได้นั้นถูกควบคุม
ข้อดีของระบบเจือจางอากาศ
- ต้องการการบำรุงรักษาน้อย
- ลดค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้ง
- แนะนำสำหรับกรณีที่ใช้งานสารเคมีที่มีการเป็นพิษต่ำจำนวนน้อย ๆ
- เหมาะสำหรับแหล่งปนเปื้อนที่กระจายตัวหรือเคลื่อนที่
ข้อเสียของระบบเจือจางอากาศ
- ไม่แนะนำสำหรับสารเคมีที่เป็นพิษสูง
- ไม่สามารถขจัดสิ่งปนเปื้อนได้หมด จึงไม่แนะนำสำหรับฝุ่นละออง, ควัน, ก๊าซ หรือไอระเหยที่มีความเข้มข้นสูง
- ต้องใช้อากาศร้อนหรือเย็นทดแทนในปริมาณมาก
- ไม่แนะนำสำหรับการปล่อยสารปนเปื้อนที่ผิดปกติ
ระบบระบายอากาศเสียในพื้นที่
ระบบระบายอากาศเสียในพื้นที่จะดักจับสิ่งปนเปื้อนที่แหล่งกำเนิดและขับออกไปภายนอก โดยมันจะทำงานบนหลักการที่อากาศเคลื่อนจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูงไปยังบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ ความแตกต่างของแรงดันนี้เกิดจากพัดลมที่ดึงอากาศผ่านระบบระบายอากาศ
ระบบนี้ใช้ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนในอากาศสูง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับพนักงานมากขึ้น โดยจะนิยมใช้ก็ต่อเมื่อ
- การปล่อยมลพิษที่ไม่สม่ำเสมอกันในแต่ละช่วงเวลา
- สารอันตรายที่มีความเข้มข้นสูง
- แหล่งที่มาของสารปนเปื้อนเป็นแบบอยู่กับที่
- พนักงานอยู่ใกล้แหล่งปนเปื้อน
- โรงงานอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพอากาศเลวร้าย
- ไม่จำเป็นต้องหมุนเวียนอากาศในโรงงาน
ข้อดีของระบบระบายอากาศเสียในพื้นที่
- ต้องการใช้อากาศร้อนหรือเย็นทดแทนน้อยลง เพราะปริมาณอากาศที่ระบายออกมีน้อยลง
- ลดค่าใช้จ่ายในการทำความร้อนและความเย็น
- จับการปล่อยที่แหล่งกำเนิดและกำจัดออก
- เป็นการระบายอากาศที่ดีที่สุดสำหรับสารปนเปื้อน, ควัน, ก๊าซ, ไอระเหย และฝุ่นละอองในอากาศที่เป็นพิษสูง
ข้อเสียของระบบระบายอากาศเสียในพื้นที่
- ค่าใช้จ่ายในการออกแบบ ติดตั้ง และบำรุงรักษาสูง
- ต้องบำรุงรักษา ตรวจสอบ และทำความสะอาดเป็นประจำ
ระบบ HVAC
คือระบบปรับสภาวะอากาศ ซึ่งจะจัดการอากาศเพื่อควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความสะอาด ให้อากาศกระจายออกไปตามที่ต้องการสำหรับพื้นที่นั้น ๆ เช่น ตามห้างสรรพสินค้า, โรงงานอุตสาหกรรม, อาคาร, ตึก, สำนักงาน, ห้องทดลอง ฯลฯ ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- Heating : การทำความร้อน
- V-Ventilation : การระบายอากาศ
- AC-Air conditioning : การปรับอากาศ
โดยโครงสร้างของ HVAC ทั้ง 3 ระบบ จะทำงานควบคู่กันตลอดเวลา เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการอากาศหลักการกลศาสตร์ทางวิศวกรรม ระบบนี้เหมาะสมกับสถานที่สำหรับอุตสาหกรรมในระบบปิด ที่มีลักษณะซับซ้อนหรือต้องการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้น
ข้อดีของระบบ HVAC
- สามารถใช้แทนเครื่องอากาศได้
- ช่วยกำจัดความชื้น, ควัน, กลิ่นไม่พึงประสงค์, ความร้อน, ฝุ่น, แบคทีเรียในอากาศ, คาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ
- ช่วยในเรื่องของการควบคุมอุณหภูมิ และการเติมออกซิเจนภายในพื้นที่
ข้อเสียของระบบ HVAC
- มีความซับซ้อนของระบบที่สูง จำเป็นจะต้องใช้ช่างผู้ชำนาญการในการออกแบบและติดตั้ง
- มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบที่มาก
- จำเป็นจะต้องได้รับการบำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ
สรุป
จะเห็นได้ว่า ระบบระบายอากาศภายในอาคารนั้นมีความจำเป็นอย่างมากกับงานโครงสร้างอาคารต่างๆ ที่นอกจากจะช่วยในเรื่องของการระบายอากาศทั่วๆ ไปแล้ว ยังให้คุณประโยชน์อื่นๆ แฝงมาอีกด้วย
แต่ระบบระบายอากาศเหล่านี้เองก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาท่อลมเช่นเดียวกัน ฉะนั้น การหาท่อลมแอร์ หรือท่อดักท์ที่ได้คุณภาพ และได้มาตรฐานสากล ก็ต้องเลือกจากร้านวัสดุก่อสร้างที่เชื่อถือได้ เช่นเดียวกันกับ UDWASSADU ที่เป็นร้านวัสดุก่อสร้างที่มีประวัติในแวดวงงานระบบปรับอากาศ ไฟฟ้า และสุขาภิบาลมากว่า 25 ปี รวมถึงยังจำหน่ายแบบออนไลน์ ทำให้เข้าถึงได้ง่าย และยังพร้อมส่งทั่วประเทศอีกด้วย