งานระบบ หรือ M&E คืออะไร เกี่ยวอะไรกับวิศวกรรม

M&E คือ

เชื่อได้เลยว่า ถ้าคุณไม่ได้มีหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรม หรือ งานในรูปแบบการก่อสร้าง อาจไม่รู้ว่า งานระบบ หรือ M&E คือ อะไร ? ซึ่งที่จริงนี่คือสิ่งสำคัญในทุก ๆ อาคารที่จำเป็นจะต้องมี แม้จะเป็นบ้านที่คุณกำลังพักอาศัยในตอนนี้ ก็ยังมีงานระบบอยู่รอบตัวคุณ เพียงแค่คุณอาจยังไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นคืองานระบบเท่านั้นเอง บทความนี้จะพาคุณมาทำความเข้าใจกับคำว่า “งานระบบ” พร้อมอธิบายว่า M และ E นั้นย่อมาจากอะไร ถ้าพร้อมสำหรับเรื่องน่าสนใจที่เรานำมาฝากในบทความนี้แล้วล่ะก็ ไปชมกันเลย !!!

 M&E  

อธิบายให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับงานระบบ หรือ M&E คืออะไร ?

พร้อมหรือยัง ที่จะรู้ว่า M&E คืออะไร ? โดย M นั้นย่อมาจาก Mechanical และ E ย่อมาจาก Electrical หากแปลด้วยความหมายแบบตรงตัวก็จะเป็น “เครื่องกล และ ไฟฟ้า” ซึ่ง M&E หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “งานระบบ” นั้นจะเป็นองค์ประกอบที่อยู่ภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็น ระบบไฟฟ้า ระบบระบายอากาศ ระบบสื่อสาร ระบบสุขาภิบาล และ ระบบดับเพลิง เคยมีการกล่าวเอาไว้ว่า “งานระบบมีความสำคัญเปรียบดั่งหัวใจของอาคาร” โดยระบบต่าง ๆ จะทำงานแตกต่างกันออกไป เพื่อผลลัพธ์ในด้านความสะดวกสบายของผู้อยู่อาศัยนั่นเอง

องค์ประกอบของระบบ M&E ในงานวิศวกรรม

ตามที่เราได้นำเสนอไปในหัวข้อเมื่อสักครู่ เกี่ยวกับงานระบบ M&E ว่ามีหลายองค์ประกอบ ซึ่งแต่ละอาคารก็จะมีงานระบบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาดของอาคาร และวัตถุประสงค์ในการสร้างอาคารหลังนั้น ๆ ยิ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่อย่าง ห้างสรรพสินค้า หรือ โรงงานอุตสาหกรรม งานระบบจะทวีความซับซ้อนมากกว่าอาคารทั่ว ๆ ไป หากคุณกำลังสงสัยว่างานระบบภายในอาคารมีอะไรบ้าง ? เรามีตัวอย่างงานระบบที่น่าสนใจมาฝาก ดังต่อไปนี้

  • ระบบระบายอากาศ คือ การทำให้อากาศเกิดการไหลเวียนถ่ายเทอากาศ ภายในอาคาร โดยระบบที่นำเอาอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาเติมอากาศภายในบริเวณที่มีผู้อยู่อาศัย ซึ่งจะมีปริมาณที่มากพอ และมีการระบายอากาศเสีย ออกไปทิ้ง เพื่อรักษาคุณภาพของอากาศภายในอากาศภายในอาคาร การระบายอากาศมี 2 วิธี คือ การระบายอากาศแบบทั่วไป ด้วยการระบายอากาศแบบธรรมชาติ ทำให้เกิดความดันบรรยากาศที่แตกต่างกัน ระบายอากาศโดยวิธีทางกล อาศัยการระบายอากาศต้องมีอุปกรณ์ทางกล อย่าง พัดลม และการระบายอากาศเฉพาะที่ เป็นการระบายอากาศที่ออกแบบมา เพื่อรวบรวมสารปนเปื้อนที่แหล่งกำเนิด ระบบระบายอากาศจะประกอบด้วย 4 ส่วน ระบบท่อ (Duct) ฮูด (Hood) พัดลม (Fan) และ เครื่องทำความสะอาดอากาศ (Air Cleaner) เป็นระบบเกี่ยวกับการปรับคุณภาพอากาศภายในอาคารทั้งหมด ทั้งในส่วนของการควบคุมอุณหภูมิ การระบายอากาศ การปรับคุณภาพของอากาศ เป็นต้น
  • ระบบไฟฟ้า คือ การส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิด ไปยังผู้ใช้งานตามประเภทของผู้ใช้ เป็นการส่งจากสถานีไฟฟ้าผ่านสายไฟฟ้าแรงสูงไปยังสถานีไฟฟ้าย่อย ส่งต่อมาสู่หม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้าต่ำลง ส่งมายังบ้านพักที่อยู่อาศัย ส่วนระบบไฟฟ้าในอาคาร เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าทั้งหมดภายในอาคาร เริ่มต้นตั้งแต่การนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในอาคาร ไปจนถึงการแจกจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปในบริเวณที่ต้องการระบบไฟฟ้ามี 2  แบบ ได้แก่ ระบบไฟฟ้า 1 เฟส และระบบไฟฟ้า 3 เฟส โดยระบบไฟฟ้ามีความแตกต่างกันดังนี้ ระบบไฟฟ้า 1 เฟส เป็นระบบไฟฟ้าที่มีสายไฟฟ้าจำนวน 2 เส้น ไฟฟ้ากระแสสลับ แรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 220-230 โวลต์ โดยสายหนึ่งจะมีสายที่มีกระแสไฟฟ้าที่ไหลอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกว่าสายไลน์ และอีกสายที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าไหล เรียกว่าสายนิวตรอน ในส่วนของระบบไฟฟ้า 3 เฟส คือ สายไฟสายที่ 3 และ สายที่ 4 เป็นสายไฟที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน แบ่งเป็นสายไลน์ จำนวน 3 เส้น และสายไฟสายนิวตรอน จำนวน 1 เส้น แรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 380-400 โวลต์

 M&E

  • ระบบสุขาภิบาล เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับสุขภัณฑ์ทั้งหมดภายในอาคาร อย่างเช่น อ่างล้างหน้า , โถปัสสาวะ และ ชักโครก เป็นต้น รวมไปถึงระบบการจ่ายน้ำก็รวมอยู่ในหมวดหมู่นี้ โดยระบบน้ำภายในอาคารมีทั้งน้ำดี และน้ำเสียหรือน้ำใช้แล้วแล้วต้องการระบายออก หากระบบน้ำในอาคารไม่ได้รับการจัดสรรที่ไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น น้ำไหลช้า น้ำรั่ว จนกระทบต่อโครงสร้างของอาคาร เป็นต้น รูปแบบของการเดินท่อสุขาภิบาล มี 5 รูปแบบ ดังนี้ 1.ระบบท่อน้ำเสีย เป็นท่อระบายน้ำจากการใช้งานทั่วไป เช่น อ่างล้างมือ เครื่องซักผ้า อ่างล้างชาม 2.ระบบท่อระบายน้ำฝน คือ ระบบท่อที่มีหน้าที่ลำเลียงและระบายน้ำฝนออกจากตัวอาคาร ส่งต่อตรงไปยังระบบระบายน้ำสาธารณะ เพื่อป้องกันน้ำฝนขังอยู่ตามจุดต่างๆ 3.ระบบท่อน้ำโสโครก คือระบบระบายน้ำที่มีความสกปรกมากกว่าท่อน้ำเสีย เช่น โถปัสสาวะ น้ำโสโครกที่ระบายจากโถส้วม ต้องได้รับการออกแบบเพื่อป้องกันการอุดตัน 4.ระบบท่อน้ำดี คือ ระบบที่ส่งน้ำประปาไปถึงจุดต่างๆของอาคาร โดยต้องมีความดันและอัตราการไหล ความดันของสุขภัณฑ์ต่างๆ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครื่องสูบน้ำ ถังเก็บย้ำ ท่อประปา ท่อ ppr เป็นต้น 5.ระบบท่อระบายอากาศ คือระบบท่อที่เชื่อมต่อท่อโสโครกและท่อน้ำเสีย มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความดันอากาศภายในระบบท่อให้มีความเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด 
  • ระบบสื่อสาร ที่จริงอยู่หมวดหมู่เดียวกับระบบไฟฟ้า แต่จะมุ่งเน้นในเรื่องของการสื่อสารต่าง ๆ โดยเฉพาะ สายสัญญาณโทรศัพท์ สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และ สายสัญญาณอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ระบบดับเพลิง เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามอัคคีภัย ซึ่งมักจะพบในอาคารขนาดใหญ่ ภายในระบบจะมีระบบสปริงเกอร์ที่จะทำงานเมื่อยามฉุกเฉิน รวมไปถึงเครื่องตรวจจับควัน เป็นต้น

 M&E คือ

ความสำคัญของงานระบบ M&E ในเชิงวิศวกรรม

ในงานด้านวิศวกรรม โดยเฉพาะวิศวกรรมโยธา M&E System คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้อาคารที่สร้างขึ้นมา พร้อมที่จะรองรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ภายในอาคารได้ เนื่องจากทุก ๆ ระบบจะทำงานเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ในอนาคตอาจมีระบบอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมา ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็เป็นได้ หากให้อธิบายถึงความสำคัญของงานระบบในแนวคิดเชิงวิศวกรรม สามารถอธิบายถึงความจำเป็นได้ดังต่อไปนี้

  •  เพื่อความสะดวกสบายของการใช้งานอาคารนั้น ๆ

งานระบบในทุก ๆ หมวดหมู่ ต่างก็มีวัตถุประสงค์ที่เหมือนกันคือ “สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้อาศัย” ยกตัวอย่างเช่น ลิฟต์ และ บันไดเลื่อน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง , ชักโครกในระบบสุขาภิบาล ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย , ระบบไฟฟ้าทำให้ภายในอาคารสามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ และ ระบบอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย

  • สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมภายในอาคาร

เนื่องจากงานระบบ M&E ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ภายในอาคาร เหมาะแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากความสะดวกสบาย ยังมีเรื่องของ “การสร้างสภาพแวดล้อม” ที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย เห็นได้ชัดที่สุดจะเป็นในเรื่องของระบบปรับอากาศ และ ระบายอากาศ เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถขาดอากาศที่ใช้หายใจไปได้ จึงต้องมีระบบ HVAC ที่ทำหน้าที่ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม และ ทำให้อากาศบริสุทธิ์เพียงพอต่อการหายใจ

 M&E

  •  เพิ่มความปลอดภัยของผู้อาศัยภายในอาคาร

เมื่ออาคารกลายเป็นแหล่งพักพิงของมนุษย์เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันเหตุด่วนเหตุร้ายต่าง ๆ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ระบบในส่วนนี้จะมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยของผู้คนภายในอาคารเป็นหลัก ถ้าให้ยกตัวอย่างที่เห็นผลมากที่สุด ก็จะเป็นระบบเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย ที่สามารถตรวจจับควันพร้อมแจ้งเตือน และมีระบบสปริงเกอร์ที่จะทำงานอัตโนมัติ ซึ่งช่วยควบคุมเพลิงได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

  • เพื่อประยุกต์ใช้งานนวัตกรรมต่าง ๆ

ความสำคัญสุดท้ายที่เราจะขอกล่าวถึงงานระบบ M&E คือ “เพื่อรองรับการพัฒนาของนวัตกรรมใหม่ ๆ” ยกตัวอย่างเช่นระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นระบบที่อยู่คู่กับทุกบ้าน โดยงานระบบที่เกี่ยวข้องก็จะเป็น “ระบบสื่อสาร” ที่ทำหน้าที่กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ทั่วบริเวณบ้าน และในยุคใหม่ในบ้านแบบ Smart Home สามารถเชื่อมต่อกับการจัดการสิ่งของภายในบ้านโดยตรงได้อีกด้วย 

บทส่งท้าย

หลังจากที่คุณได้รู้แล้วว่า งานระบบ หรือ M&E คือ อะไร และมีความสำคัญในเชิงวิศวกรรมมากน้อยเพียงใด ในการเลือกซื้อวัสดุและอุปกรณ์ภายในระบบต่าง ๆ ภายในอาคาร อย่าลืมเลือกใช้แต่ของคุณภาพดีเท่านั้น เพราะจะทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ มีประสิทธิภาพสูงที่สุด หากคุณไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อวัสดุและอุปกรณ์ในงานระบบจากที่ไหน UDWASSADU ของเราพร้อมจำหน่ายสินค้างานระบบหลากหลายประเภทให้กับคุณ ในราคาที่สมเหตุสมผล พร้อมการันตีคุณภาพของสินค้าทุกชิ้น ซึ่งคุณจะได้รับในราคาโรงงานเลยทีเดียว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยตอนนี้ เพียงติดต่อมาที่ LINE : @udirons