ท่อน้ำยาแอร์สั้นไป ยาวไป ถือว่าเป็นปัญหาที่เห็นได้ตลอดระหว่างช่าง และเจ้าของแอร์เวลาเดินท่อแอร์ เพื่อติดตั้งแอร์ใหม่ในอาคารหรือบ้านเรือนต่าง ๆ ด้วยความเป็นกังวลที่ว่าจะมีปัญหาในการทำงานของตัวแอร์ ที่การทำความเย็นนั้นไม่ได้ประสิทธิภาพมากเพียงพอ จนกลายเป็นปัญหาทั้งในแง่ของค่าไฟ และความเย็นที่ไม่ถึงจุดที่เราต้องการ แต่ปัญหานี้เป็นจริงมากแค่ไหน เราจะไปหาคำตอบกันในบทความนี้
ท่อน้ำยาแอร์ เหลือใช้ ขดหรือต้องตัดทิ้งกันแน่
ในกรณีที่ซื้อแอร์ใหม่มา ชุดแอร์ที่ซื้อมาใหม่นั้น มักจะมีการแถมท่อทองแดงหุ้มฉนวนมาให้จำนวนสองเส้น โดยท่อแต่ละเส้นก็มีความยาวที่ประมาณ 4 เมตร ซึ่งท่อที่ให้มาพร้อมกับแอร์นี้ เป็นท่อที่จะนำมาใช้เป็นท่อทางเดินสารทำความเย็นหรือท่อน้ำยา เพื่อเชื่อมต่อระหว่างชุดคอยล์เย็น และชุดคอยล์ร้อนของตัวเครื่อง แต่ในการติดตั้งจริง ห็มีบางครั้งที่ท่อซึ่งใช้งานจริงก็มีความยาวไม่ถึง 4 เมตรตามที่ให้มา เพราะระยะทางที่ต้องใช้ห่างกันไม่มากอยู่เช่นกัน
ในกรณีที่ชุดคอยล์เย็น และชุดคอยล์ร้อนถูกติดตั้งในระยะที่ใกล้กันมาก ๆ หรือท่อที่ออกจากคอยล์เย็น นั้นสามารถทะลุกำแพงออกมาเจอชุดคอยล์ร้อนได้เลย กรณีลักษณะแบบนี้ ท่อทองแดงที่มาพร้อมเครื่องจะต้องเหลืออยู่มากกว่าครึ่งแน่นอน
ช่างที่ติดตั้งแอร์โดยทั่วไป หากเจอกรณีดังกล่าวก็จะมีวิธีจัดการกันอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือหากไม่ตัดท่อส่วนที่เกินออกไป ก็จะขดม้วนท่อส่วนที่เกินมาเก็บหลบเอาไว้ด้านข้าง หรือด้านหลังคอยล์ร้อน ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ก็ขึ้นอยู่กับประสบการและดุลยพินิจของช่างแต่ละราย
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นกรณีที่เดินท่อสั้นมาก ๆ และมีท่อส่วนเกินเยอะ ช่างทั่วไปก็มักจะใช้การตัดส่วนเกินออกเสียมากกว่า เพราะท่อส่วนเกินที่ตัดออกมานั้นสามารถเก็บกลับไปใช้ประโยชน์ในงานอื่น ๆ ได้อีก รวมไปถึงยังได้ในเรื่องของความสวยงามด้วยนั่นเอง เพราะมุมมองเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ก็มักจะเห็นว่า การติดตั้งแบบที่ท่อเดินเข้าเครื่องพอดี ย่อมดูดีกว่าการขดม้วนท่อที่เหลือไว้ให้เห็นกัน
การติดตั้งโดยขดม้วนท่อที่เหลือ
ส่วนการติดตั้งโดยขดม้วนท่อที่เหลือเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่ช่างสามารถตัดท่อส่วนเกินออกไปได้ แต่ก็กลับเลือกขดท่อเก็บไว้ให้แทน ก็แสดงว่าช่างได้พิจารณาแล้วว่าระยะของท่อที่ใช้งานนั้น มันสั้นเกินไปหากจะตัดท่อออกเลย และอาจเกิดปัญหาในการซ่อมบำรุงต่าง ๆ ในอนาคต จึงจำเป็นจะต้องเหลือท่อส่วนเกินเหล่านั้นเอาไว้
และอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่างม้วนท่อเอาไว้แทนการตัด ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ช่างที่มาติดตั้งให้นั้นเป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรมจากผู้ผลิตแอร์มาแล้วก็เป็นได้ เพราะการอบรมทางด้านเทคนิคที่ผู้ผลิตแอร์แต่ละรายได้จัดขึ้น พบว่าบ่อยครั้งที่วิทยากรผู้บรรยาย มักจะแนะนำให้ใช้วิธีการม้วนท่อส่วนเกินเอาไว้แทนการตัดทิ้งอยู่เป้นประจำเช่นกัน
เพราะการม้วนท่อขดเก็บไว้จะทำให้ระยะทางที่น้ำยาแอร์ไหลผ่าน มีอยู่พอดีตรงตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดและออกแบบมา ทั้งนี้ ผู้ผลิตแอร์บางรายก็อาจจะไม่ได้แนะนำในส่วนนี้เอาไว้ ซึ่งจะทำแบบไหนก็ขึ้นกับความเห็นสมควรของช่างผู้มีประสบการณ์ในหน้างานเป็นหลัก
หากท่อน้ำยาแอร์สั้นเกินไป หรือยาวเกินไป ส่งผลต่อประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง
ในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ ตามหลักการแล้ว การที่แอร์แต่ละเครื่องจะถูกผลิตออกมาเพื่อวางจำหน่ายและใช้งานจริง ผู้ผลิตแอร์แต่ละรายก็จะออกแบบและคำนวณรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ไว้หมด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการใช้ท่อ ซึ่งท่อที่ผู้ผลิตได้ให้มาพร้อมกับตัวเครื่องนั้น ย่อมมีขนาดและความยาวที่เหมาะสม ตรงตามการออกแบบที่สุดแล้ว
โดยความยาวท่อประมาณ 4 เมตร ที่ผู้ผลิตแอร์แต่ละยี่ห้อได้ให้มาพร้อมกับตัวเครื่อง ก็เป็นระยะความยาวท่อโดยประมาณ ที่ผู้ผลิตคิดคำนวณออกมาแล้วเห็นว่าว่าเหมาะสมที่สุด และในกรณีที่ซื้อแอร์มาใหม่ส่วนใหญ่ ทุกยี่ห้อจะบรรจุสารทำความเย็นมาให้พร้อมในชุดคอยล์ร้อน เพียงพอต่อการนำไปติดตั้งใช้งานได้ทันที
ปริมาณน้ำยาแอร์ที่ใส่มาให้ในแอร์แต่ละเครื่อง จะเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการใช้งาน อิงตามความยาวท่อที่ประมาณ 4 ถึง 5 เมตร และส่วนใหญ่ ก็มักจะเผื่อสำหรับการติดตั้งที่ต้องต่อท่อเพิ่มได้อีกประมาณไม่เกิน 10 ถึง 15 เมตร ซึ่งหากเพิ่มท่อมากกว่าที่ระบุมาในคู่มือ ก็จะต้องเพิ่มน้ำยาตามสัดส่วนที่กำหนดในคู่มือ เนื่องจากระยะความยาวของท่อที่ใช้นั้น มีผลโดยตรงกับปริมาณน้ำยาและประสิทธิภาพที่แสดงออกมาได้
แต่ถ้าเป็นกรณีที่ระยะการเดินท่อที่สั้นมาก ๆ และระยะของท่อที่ใช้มีไม่ถึง 1 เมตร การตัดท่อส่วนเกินออก จะทำให้ระยะของท่อสั้นเกินไป และอาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ เพราะต้องไม่ลืมว่าปริมาณน้ำยาที่ใส่มาให้จากโรงงานนั้น อ้างอิงตามความยาวท่อที่ประมาณ 4 ถึง 5 เมตร แต่เมื่อท่อที่ใช้จริงถูกตัดออกไปมากเกินกว่าครึ่ง ในขณะที่ปริมาณน้ำยายังคงเท่าเดิมตามที่ผู้ผลิตให้มาข้างต้น ย่อมมีผลต่อกระบวนการเปลี่ยนสถานะของน้ำยาแอร์อย่างแน่นอน
เนื่องจากในกระบวนการทำความเย็นของแอร์ คือน้ำยาในระบบที่ถูกฉีดลดแรงดัน ก่อนจะมีการระเหยเปลี่ยนสถานะจากของเหลวระเหยเป็นไอ กระบวนการระเหยเปลี่ยนสถานะของน้ำยาจะดึงเอาความร้อนที่อยู่รอบ ๆ เข้ามาทำให้บริเวณนั้นเกิดอุณหภูมิต่ำลง จากนั้น ไอของน้ำยาที่ระเหยแล้วก็จะถูกดูดกลับเข้าสู่คอมเพรสเซอร์ เพื่อเริ่มกระบวนการอัดออกไปและเริ่มวัฏจักรใหม่อีกครั้ง
และการที่ท่อแอร์ถูกตัดออกไปเกินกว่าครึ่ง แต่ปริมาณน้ำยายังคงเท่าเดิม เมื่อน้ำยาแอร์มีระยะทางให้ไหลไปสั้นลงกว่าเดิมมาก ๆ ก็จะมีผลทำให้น้ำยาบางส่วนระเหยไม่ทันหมด และเนื่องจากลิ้นของคอมเพรสเซอร์แอร์ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ดูดน้ำยาในสถานะแก๊ส หรือไอเข้ามาเท่านั้น การที่น้ำยาระเหยไม่ทันหมด ก็จะทำให้มีน้ำยาบางส่วนที่มีสถานะเป็นของเหลวอยู่ ถูกดูดเข้าไปในคอมเพรสเซอร์ด้วย ส่งผลเสียทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลง อีกทั้งค่าแรงดันที่วัดได้จากท่อทางดูดจะมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานไปเยอะ ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าที่แอร์ใช้งานก็ย่อมมีค่าสูงตามไปด้วย
ท่อน้ำยาแอร์ กับแอร์รุ่นปัจจุบัน
ในกรณีของแอร์รุ่นที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่คอมเพรสเซอร์จะเป็นแบบโรตารี่ และที่ด้านข้างของคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ จะมีส่วนที่เป็นเหมือนถังแคปซูลขนาดเล็กติดอยู่ ซึ่งนั่นก็คือส่วนของถังพักน้ำยา โดยถังพักน้ำยาจะเป็นเหมือนปราการด่านสุดท้าย ที่ป้องกันสารทำความเย็นเหลวที่ระเหยไม่หมดกลับเข้าสู่คอมเพรสเซอร์
แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ถังพักน้ำยาก็มีความสามารถในการจัดการน้ำยาเหลวที่ไหลปนเข้ามาที่จำกัด ซึ่งการออกแบบถังพักน้ำยา หลัก ๆ จะเน้นไว้สำหรับรองรับน้ำยาเหลวที่เปลี่ยนสถานะไม่ทัน เพราะแผงคอยล์มีประสิทธิภาพลดลงจากความสกปรกที่เกิดขึ้น ยิ่งแผงคอยล์แอร์สกปรกมาก ๆ น้ำยาก็มีอุปสรรค์ในการแลกเปลี่ยนความร้อน ส่งผลโดยตรงต่อการกลายสถานะไม่หมด และยิ่งมาเจอระยะท่อทางกลับที่สั้นมาก ๆ เข้า หากมีน้ำยาเหลวมีกลับเข้ามาในระบบมากเกินไป ก็จะยิ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาวอย่างแน่นอน
เดินท่อน้ำยาแอร์ในระยะสั้น
หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินท่อน้ำยาในระยะที่สั้นมาก ๆ อย่างเช่นใช้ท่อไม่ถึง 1 เมตร ก็ควรพิจารณาดูค่าแรงดันน้ำยาที่วัดได้ควบคู่กับค่ากระแส ซึ่งในขณะที่เดินเครื่อง ถ้าค่าแรงดันที่วัดได้มาอยู่ที่ระดับเกินกว่า 85 PSIG ก็ควรปล่อยน้ำยาส่วนเกินออกจากระบบบ้าง เพราะน้ำยาที่มีมากเกินความต้องการ ก็ย่อมเป็นภาระให้คอมเพรสเซอร์มายิ่งขึ้น ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ต้องทำงานหนัก กินไฟมากขึ้น และในระยะยาวก็มีอายุการใช้งานที่สั้นลงกว่าเดิมด้วย
แต่หากเป็นไปได้ ถ้าไม่ติดขัดเน้นความสวยงามมากเป็นพิเศษในบริเวณที่วางชุดคอยล์ร้อน การติดแอร์ที่มีระยะของท่อสั้นมาก ท่อส่วนที่เหลือจะใช้วิธีการขดม้วนเก็บไว้ในบริเวณใกล้ ๆ ชุดคอยล์ร้อน ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีกว่าในด้านประสิทธิภาพ เพราะจะได้ใช้ความยาวท่อที่เหมาะสมที่สุดตามที่ผู้ผลิตกำหนดมา ไม่ต้องมีการปล่อยน้ำยาทิ้งแต่ประการใด ส่วนจะขดท่อได้สวยไม่สวยขึ้นอยู่กับฝีมือช่าง ซึ่งช่างบางรายก็ทำงานออกมาได้อย่างมิดชิด
และนอกจากนี้ การม้วนท่อส่วนที่เกินไว้ ก็มีข้อดีอีกอย่างคือ ถ้าหากแอร์เครื่องนี้มีการย้ายไปติดที่อื่นในอนาคต การขดท่อม้วนเก็บไว้ก็ช่วยให้ท่อของเดิมสามารถนำไปใช้ร่วมกันได้อีก
สรุป
การขดท่อน้ำยาแอร์หรือตัดทิ้งนั้น เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของช่างแอร์ที่มาทำให้เราทั้งสิ้น ว่าจะเลือกทำเช่นไร แต่ปัญหานี้จะมีขึ้นจริง ๆ ก็ต่อเมื่อช่างแอร์เหล่านั้นสั้นหรือยาวเกินไปจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งถ้าหากพบปัญหาดังกล่าว และต้องการหาซื้อท่อน้ำยาแอร์ใหม่เพื่อไปเปลี่ยนแล้วล่ะก็ UDWASSADU ก็มีสินค้าท่อน้ำยาแอร์ ท่อลมจัดจำหน่าย พร้อมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มรูปแบบ คลายกังวลไปเลยว่าทางคุณลูกค้าจะไม่ต้องเสียเวลาตามหาสินค้าให้วุ่นวาย ทั้งจัดส่งทันเวลาตามกำหนดการอย่างแน่นอน
REF
https://nashtimes.wordpress.com/2018/12/21/ทำไมต้องขดท่อน้ำยาแอร์/